พระอาจารย์ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ. อุบลราชธานี
พระอาจารย์ชาเป็นพระรูปหนึ่งที่ผมเคารพและนับถือมากเพราะท่านเป็นพระปฏิบัติ เป็นพระดีผู้สมควรได้รับการกราบบูชา เป็นผู้ชี้ทางให้กับหลายๆคน ถือได้ว่าผมโชคดีที่มีโอกาสได้อ่านคำสอนของท่านพอสมควร นำมาปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้างแต่ก็พอจะจับได้ว่าสุขทุกข์นั้นตัวแปรอยู่ที่ความคิดเหมือนกับที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวในทำนองว่าทุกข์เพราะคิดผิด แม้ว่าผมยังห่างไกลจากการเป็นผู้รู้อยู่มากแต่เมื่อเทียบกับก่อนเส้นทางนี้ก่อนงานต่างๆที่กำลังทำอยู่ ผมก็มีความสุขมีความสบายใจกว่าแต่ก่อนมาก ผมจึงขอสรุปแนวทางที่ผมใช้และเห็นผลกับตัวเองเผยแพร่ไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง (ถอดมาจากบางส่วนของการบรรยายที่องค์กรพุทธโลก แก่ชาวต่างชาติที่สนใจการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อ 5 เมษายน 2552 )ดังนี้
ทางแห่งความสุขจะเริ่มต้นได้ไม่ยาก หากเราเข้าใจและยอมรับได้ว่าสิ่งที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามดิ้นรนอยู่นี้ก็คือเพื่อให้ตนเองมีความอยู่ดี กินดี ได้ทำได้ไปในสิ่งที่หรือสถานที่ที่ตนพอใจ หรือมีความสุขนั่นเอง ถ้าหากเรามีพอเท่าที่ร่างกายและสังขารต้องการสำหรับการดำรงอยู่ ไม่เจ็บไม่ไข้ก็สามารถมีความสุขได้แล้ว ส่วนเกินต่างๆล้วนเป็นความสุขที่ตอบสนองต่อความอยากในใจทั้งสิ้น ฉะนั้นความสุขจะมีได้ง่ายขึ้นถ้าจิตหรือใจได้รับการฝึก ได้ตามหาความสุขให้ถูกที่ ไม่ใช่วิ่งพล่าน ดิ้นรนหาความสุขไปทั่วแต่ไม่รู้ว่าความสุขอยู่ตรงไหน
เพราะส่วนเกินจากความต้องการเท่าที่จำเป็นของร่างกายนั้น ใจเป็นตัวกำหนด จะหยุดจะนิ่ง จะเป็นสุขได้ก็อยู่ที่ใจ ถ้าเรามองชีวิตได้ตามความเป็นจริง เห็นในความไม่เที่ยงเห็นการเกิดการดับ เห็นทุกข์เห็นสุขที่หมุนเวียนเกิดขึ้นรอบๆตัว เราก็คงพอจะเริ่มได้คิดว่าการจะแสวงหาสุขที่แท้จริงคงไม่ใช่การปล่อยให้ชีวิตหมุนไปตามยถากรรมของมัน เพราะแบบนั้นมันก็ทุกข์สุขคละเคล้ากันไปเรื่อยๆ คนที่เข้าถึงชีวิต คนที่แสวงหาความสุขที่ยั่งยืนจึงจำเป็นต้องเข้าใจและหาทางเดินที่จะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน ความสุขทั้งกายและใจ ถ้าเราต้องการเดินบนเส้นทางแห่งความสุขเราจึงจำเป็นที่จะต้องบริหารใจ การที่จะบริหารใจนั้นต้องอาศัย ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ชี้ทางไว้
ศีล แปลตรงตัวภาษาง่ายๆสำหรับคนทั่วไปอาจหมายถึงข้อห้าม ฟังดูแล้วเหมือนกับเป็นการริดรอนสิทธิ์เสรีภาพของตนเอง แต่ความจริงแล้วศีลหรือข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้ในศาสนา คือเครื่องป้องกันตัวเราจากอันตราย จากความหลงผิดต่างๆ เปรียบได้เหมือนรั้วบ้านที่คุ้มครองป้องกันเรา เช่นถ้าเราฝืนออกนอกรั้วนอกบ้าน เราก็จะรู้สึกปลอดภัยน้อยลง และหมายความว่ามีโอกาสเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ตรงข้ามถ้าเราเข้าบ้าน อยู่ในบ้านของเราความรู้สึกอบอุ่นสงบ ความปลอดภัยก็จะมีสูงขึ้น ศีลเบื้องต้นสำหรับปถุชนทั่วไปคือศีลห้า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกหรือพูดส่อเสียด และไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมา เพียงงดและละห้าอย่างเราก็จะปลอดภัย อยู่บนถนนแห่งความสุขแล้ว ตรงข้ามถ้าเราเลยกรอบเลยเขตนี้ออกไป ก็คล้ายๆกับว่าเราเริ่มออกนอกขอบถนนชีวิตแล้ว เหมือนกับที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎกว่าเพียงผิดศีลห้าก็เข้าสู่ทางไปนรก ไม่ใช่ทางชีวิตแล้ว (ดูพระไตรปิฎกฉบับประชาชน โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ)
สมาธิ หรือสภาวะที่จิตใจมีความรู้ตัว ไม่ฟุ้งซ่าน ใจจดใจจ่อกับสิ่งปัจจุบันเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับทางแห่งความสุข เหมือนกับที่เราอยู่ในบ้าน ในบ้านเองก็มีหลายห้องหลายจุดที่อาจเป็นอันตรายได้ เราต้องมีสติ มีความรู้ระวังตัวเอง เช่นเข้าห้องน้ำก็ต้องระวังลื่น ผ่าฟืนก็ต้องระวังมีด จะขีดจะเขียนก็ต้องดูปากกา จะจำศีลภวนาก็ต้องหาความสงบ จะสงบระงับได้ก็ต้องฝึก เพราะจิตเรา จิตมนุษย์ไวนัก ไวยิ่งกว่าแสงหรือสิ่งใดๆ ไปถึงไหนต่อไหนในพริบตา ถ้าเราไม่ฝึกทำจิตให้นิ่งปล่อยให้มันไปตามเรื่องของมันจนชาชิน มันก็ยิ่งจะเป็นเรื่องยากที่มันจะอยู่กับเรา จะทำให้เราสงบนิ่งพอที่จะเห็นปัจจุบันขณะเห็นสภาวะตรงหน้าได้อย่างชัดเจน ถ้าเรายังไม่เรียนรู้ไม่ฝึกให้มีจิตสมาธิให้เห็นปัจจุบัน ให้เห็นสิ่งที่อยู่ต่อหน้าอย่างชัดเจนแล้ว เราจะเดินดุ่มโดยไม่หกล้ม ไม่เจ็บไม่พลาด ไม่ทุกข์ได้อย่างไร นั่นคือความสำคัญของสมาธิ
ปัญญา หรือความสว่าง ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ คือเป้าหมายสูงสุด ศาสนาพุทธ เน้นที่ปัญญา ความคิดความเห็นแจ้งด้วยตนเอง ศาสนาพุทธไม่เน้นให้เชื่ออย่างงมงาย ตรงข้ามศาสนาพุทธท้าให้พิสูจน์ ให้ลงมือปฏิบัติ ให้รู้ให้เกิดกับตนเอง จริงๆแล้วความจริงทั้งหลายเป็นความจริงที่มี ที่เป็นอยู่แล้วในธรรมชาติ ความสุขความทุกข์ก็มีก็เป็นอยู่แล้วในธรรมชาติไม่ได้เป็นของผู้ใด ลัทธิใด เผ่าใด ศาสนาใด ฉะนั้นใครก็ตามถ้าประพฤติปฏิบัติก็จะมีสิทธิ์ที่จะเห็นในธรรม ในธรรมชาติกันทุกคน แต่จะเห็นได้ถูกต้อง เห็นด้วยปัญญาอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อ อยู่ถูกที่ (อยู่ในศีล) สนใจและใจจดใจจ่อกับสภาวะตรงหน้า (มีสมาธิ) และรู้จักไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลด้วยศักยภาพที่มี (ด้วยปัญญา) ถ้าครบทั้งสามอย่าง ทางสว่างทางแห่งความสุขก็จะบังเกิด ก็จะปรากฏแก่ผู้ถือปฏิบัติ หลายท่านบอกด้วยซ้ำไปว่า หากผู้ใดมีศีล มีสมาธิอยู่เสมอแล้ว ปัญญาก็จะตามมาเองโดยที่ไม่ต้องออกแรงคิดแรงพยายามอะไรจนมากมายเกินกำลัง ในทางตรงข้ามคนที่มีปัญญาอย่างแท้จริงย่อมรู้ว่าอะไรจะนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงแก่ตนเองและสังคม คนผู้มีปัญญาย่อมมีความรู้สึกตัวอยู่เป็นนิจ อยู่ในกรอบในขอบเขตที่จะไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นหลุดออกไปจากความสุขสงบได้ นั่นคือความเกี่ยวพันกันและความสำคัญของศีล สมาธิ และปัญญา ทั้งหมดนี้คือหลักการในการจะอยู่ในเส้นทางแห่งความสุขที่ผมยึดเป็นแนวทางสำหรับตนเอง โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ และจริงๆแล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะสงวนด้วยเพราะมันเป็นหลักที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติและแนวคิดนี้ผมก็ไม่ได้คิดเองแต่สรุปจากคำสอนในพระพุทธศาสนา ส่วนท่านผู้อ่านอ่านแล้วจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยจะนำไปประยุกต์ให้เหมาะกับท่านหรือสถานการณ์ของท่านอย่างไรก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาของท่าน เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินของตนเอง ส่วนใครจะเลือกทางไหนนั้นพระพุทธองค์ท่านแนะนำให้ใช้ปัญญา
Akkaradet-68(section 48)
ReplyDeleteAccording to the question "What is a land diving?"
In my mind...A land diving is the sea there was beautiful coral reefs,pure water and interesting area.
Akkaradet-68(section 48)
ReplyDeletebut...in fact,
It is a bungee jumping on Pentecost Island in Vanuatu.