ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนว่า เจ้าของบล็อกมีความสนใจในการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและการแลกเปลี่ยนความคิดกับคนทุกเพศทุกวัยอย่างบริสุทธิ์ใจ ด้วยความที่เป็นครู ชินการการแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นๆรวมทั้งนักเรียนนักศึกษา และชอบขีดๆเขียนๆหลายครั้งจึงได้นำสิ่งที่ได้พบเห็นหรือประสพมาเป็นประเด็นประกอบการเขียนในหน้านี้ก็เผื่อว่าอาจจะมีท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ประสบเหตุการณ์เรื่องราวคล้ายๆกัน หรือมีประสบการณ์มุมมองที่แตกต่างร่วมให้ความคิดเห็นหรือคอมเมนต์กลับมา ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของบล็อกและผู้อ่านมีมุมมองที่กว้างขึ้น โดยที่ผมเองไม่เคยคิดจะใช้พื้นที่นี้วิพากษ์วิจารณ์หรือจงใจพาดพิงใครผู้ใดเป็นการส่วนตัว และก็ไม่ได้มีความคิดว่าความผิดพลาดของผู้อื่นทุกครั้งทุกคนจะเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนเองก็ไม่ได้สมบูรณ์พร้อม ตรงข้ามผู้เขียนหรือเจ้าของบล็อกเองก็มีส่วนที่เคยพลาดเคยผิดเช่นกัน และก็ยังอาจผิดพลาดได้อีก ดังนั้นหากสิ่งที่ผู้เขียนพูดหรือเขียนบังเอิญไปพาดพิงหรือคล้ายคลึงกับเรื่องราวของท่านใด หากสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนไปหรือจะเขียนต่อในอนาคตทำให้ท่านไม่สบายใจก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และหากท่านมีความคิดเห็นใคร่นำเสนอกลับมา ตราบใดก็ตามที่เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกลาง ด้วยเหตุด้วยผล ทุกท่านก็สามารถให้ความเห็นกลับมาแลกเปลี่ยนกันได้
ประมาณหนึ่งหรือสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกศิษย์ผู้เขียนได้โพสท์บทความเกี่ยวกับการตอบรับหรือปฏิเสธเมื่อถูกขอร้องหรือเชิญชวน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ถูกเชิญชวนนั้นอาจไม่เต็มใจแต่ก็รู้สึกเกรงใจที่จะปฏิเสธ และไม่ทราบจะปฏิเสธ อย่างไร แล้วถามผู้เขียนและสมาชิกในกลุ่มว่าควรจะทำเช่นไร
ผู้เขียนได้เสนอความเห็นไปว่า ถ้าเป็นไปได้ควรจะตอบไปตรงๆตามที่ตนเองรู้สึกดีกว่าที่จะไปฝืนความรู้สึกตอบรับออกไป ยิ่งถ้าผู้ชักชวนได้ถามด้วยว่า เราพร้อมหรือเต็มใจหรือไม่ ขืนยังไปบอกว่าเต็มใจทั้งที่ไม่เต็มใจ ก็เป็นการโกหกแล้ว และผู้เขียนก็แนะนำต่อไปว่าที่สำคัญคือเมื่อเราได้ตอบไปแล้วไม่ว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธเราต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตนเอง เช่นถ้าเราเลือกตกลงรับคำผู้ชักชวนแล้ว เราก็ต้องรักษาคำพูดของเรา ทำตามคำที่เราเลือกตอบเลือกรับคำไปเพราะนั่นหมายถึงว่าเราได้เลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ ขณะเดียวกัน หากเราเลือกจะบอกความจริง คือปฏิเสธไป เราก็ต้องพร้อมจะยอมรับในปฏิกริยาตอบรับของผู้ชักชวน อะไรแบบนั้น
โดยส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างจะอคติมากกับเรื่องปากไม่ตรงกับใจ ยิ่งประเภทที่ต่อหน้าบอกเข้าใจ รู้เรื่องแต่ลับหลังพูดไปในทางตรงกันข้าม ยิ่งเป็นประเภทที่ถ้าไล่ได้ผู้เขียนก็อยากออกปากไล่ ความที่รู้ว่าหลายคนปากไม่ตรงกับใจ ความที่ทราบว่าในสังคมมีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะพูดเท็จแล้วมาบอกทีหลังว่าเกรงใจ ผู้เขียนจึงค่อนข้างระวังมากกับการที่จะขอร้องเชิญชวนใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าไม่จำเป็นแล้วจะไม่ขอความช่วยเหลือใครโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจะต้องขอก็จะย้ำแล้วย้ำอีก ทั้งนี้เพราะเคยทราบทีหลังว่าในบางครั้งผู้ที่ช่วยเหลือเราก็มีภาระกิจอย่างอื่นอยู่ ซึ่งแม้เขาจะเต็มใจช่วยเขาก็เสียงานเขา ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกไม่ดี ที่สำคัญอีกประการหนึ่งผู้เขียนชอบในความตรงไปตรงมา ไม่อยากฝืนใจใครทั้งตนเองและผู้อื่น และต้องการตัดเรื่องการได้รับความช่วยเหลือหรือความร่วมมือจากใครๆเพราะความเกรงใจออกไปจากชีวิต ตั้งแต่ประมาณปี 2546 เป็นต้นมาผู้เขียนจึงพยายามย้ำกับคนรอบข้าง กับงานที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องว่า กับคนอื่นไม่รู้ แต่กับผู้เขียนขอให้พูดตรงๆ อย่าเสียเวลาซึ่งกันและกัน อย่ารับปากรับคำอะไรในสิ่งที่ตนเองไม่พร้อมจะทำ ถ้าไม่อยากทำไม่เต็มใจก็ให้บอกตรงๆ ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบใจก็ไปในที่ๆที่คุณสนใจ และพร้อมจะทำ...ผู้เขียนได้แสดงความเป็นตัวตนค่อนข้างชัดเจนในเรื่องนี้ รวมทั้งได้เขียนในบทความ ในหนังสือที่ตนเองเขียนว่า พอเสียทีกับการไม่รักษาคำพูด พอเสียทีกับการตอบรับเพราะมารยาททั้งๆที่ใจไม่พร้อม ผู้เขียนไม่ต้องการเสียเวลา ผู้เขียนขอทำงานกับคนที่พร้อมจะทำจะร่วมงานกันเท่านั้น
ผู้เขียนเข้าใจว่าตนเองจะไม่เจอประเภทเออออห่อหมก รับปากรับคำแล้วก็ไม่ใส่ใจอะไรอีกแล้ว แต่ปรากฏว่า ยังได้พบและเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้อยู่บ้าง แม้ผู้เขียนจะเข้าใจว่ามันไม่มีอะไรแน่นอนและมนุษย์ก็คือมนุษย์ ผู้เขียนก็ไม่อยากจะเสียความรู้สึกอีก เพราะผู้เขียนยังต้องอยู่ในสังคม ยังไม่สามารถเลือกคนรอบข้างได้อย่างอิสระ ยังต้องทำการสอนอยู่อย่างน้อยก็ดูเหมือนจะสองสามปี เมื่อผู้เขียนมีความรู้สึกที่ค่อนข้างสะเทือนใจกับการพูดลอยๆ การไม่รักษาคำพูดของคนบางคนบางกลุ่มค่อนข้างมาก จนสงสัยว่ามันเป็นเพราะตัวผู้เขียน เพราะวัยและสมัยมันต่างกันหรืออย่างไร ทำไมผู้เขียนจึงรู้สึกว่าคนสมัยนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการรักษาคำพูด ทำไมคนบางคนจึงบอกได้ว่ารับปากไปเพราะความเกรงใจ แล้วเพิกเฉยกับสิ่งที่ตนเองรับปากรับคำไปหรือทำสิ่งที่ตรงข้าม เกรงใจที่จะตอบปฏิเสธแต่ไม่เคอะเขินที่จะโกหก รับปากรับคำออกไปทั้งๆที่มีการย้ำถามแล้วถามอีกว่าแน่ใจนะ อย่ารับปากเพราะความเกรงใจนะ ไม่มีการบังคับนะ ก็ยังรับปาก ปล่อยให้คิดว่าจะรับผิดชอบจะทำแต่ก็ไม่ทำตามที่พูด...พฤติกรรมแบบนี้มันเป็นผลของความเกรงใจ ความต้องการรักษาน้ำใจของผู้ชักชวน หรือมันเป็นส่วนหนึ่งของการเอาตัวรอด อาการลื่นไหลไปกับกระแสกับสถานการณ์ เพื่อรักษาหน้าตนเอง...โดยไม่ใส่ใจที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองพูดหรือสัญญาไว้...การกระทำลักษณะนี้มันทำให้ผู้เขียนนึกถึงลักษณะของนักการเมืองหรือนักปกครองบางคนบางกลุ่มที่ดีแต่พูดและสัญญาไปเรื่อยเปื่อยแต่สุดท้ายก็ทำไปพูดไปเพื่อผลประโยชน์ตน เมื่อได้สิ่งที่ต้องการก็หายหัวไป...ผู้เขียนคิดมากไปหรือเปล่าว่าพฤติกรรมแบบนี้มันเป็นอาการของโรคร้ายที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดของคนรุ่นใหม่หลายๆรายแล้ว...แม้นักศึกษาเองก็มีไม่น้อยเลยที่ครูอาจารย์บอกแนะนำอะไรไป ก็ค่ะ ครับ แต่ก็ไม่ค่อยทำตาม นัดหมายกับครูอาจารย์แล้วก็ไม่ค่อยใส่ใจก็มีไม่น้อย...ตอนเรียนด้วยกัน ตอนสอนกันอยู่ก็เออออห่อหมกรับปากไปหมดกับทุกเงื่อนไข แต่พอผ่านไปที่ติดที่ค้างก็ไม่เคยนึกถึง.....
ในยุค 2554 นี้ ความเกรงใจ ยังเหลืออยู่จริงรึ คุณคิดว่าคุณจะเชื่อเขาไหมว่า หากใครสักคนจะบอกคุณว่า ที่เขารับปากกับคุณนั้นเพราะเกรงใจ หากหลังจากนั้นคุณได้ถามเขาถึงสิ่งที่รับปากไปถึงสามสี่ครั้ง เขาก็ยังบอกให้คอย ยังนัดหมายกับคุณอยู่อีก โดยไม่ยอมบอกว่าจริงๆแล้วเขาคิดอย่างไร ...ในสังคมปัจจุบันที่สอนกันให้รักษาสิทธิ์ตน ใช้สิทธิ์ตนโดยที่บางทีก็ไม่ค่อยนึกถึงสิทธิ์คนอื่น อยากทำอะไรเมื่อไรก็ทำ...ในยุคสมัยที่ครูกับศิษย์ เด็กกับผู้ใหญ่ หญิงกับชาย ล้วนเท่าเทียมกันตามสิทธิ์ ทำอะไรก็ได้ที่ฉันคิดว่าเหมาะสม โดยไม่ใส่ใจในความแตกต่างของวัย เพศ และสถานะ เพราะทุกคนก็คือคน....ในยุคสมัยที่ชื่อเสียงเงินทอง การเอาตัวรอดมาก่อน ศีลธรรม มาก่อนความเหมาะสม (ที่คนรุ่นใหม่บางคนบอกไม่มีบรรทัดฐาน ไม่มีเหตุผล เป็นข้ออ้างเพื่อการครอบงำ) ...ผมไม่แน่ใจจริงๆว่า ผมผิดปกติไปหรือเปล่าที่ยังสลัดความคิดความกังวลกับเรื่องคำคนไปไม่พ้น ผมผวาไปหรือเปล่าที่ตกใจไปกับความคิดกับคำถามที่ว่า ยังจะมีคนรุ่นใหม่กี่คนนะที่เลือกที่จะโกหกเพราะความเกรงใจ......
ดร.ชิต ณ เหล่าเสือ
ประวิติศาสตร์บอกเล่า เหล่าเสือโก้ก
-
หลังจากเริ่มเสนอโครงการมาตั้งแต่ประมาณปี 52
จากนั้นก็เก็บข้อมูลโดยการสอบถามพูดคุยผุ้เฒ่าผู้แก่และสมาชิกในชุมชนตามโอกาสมาเรื่อยๆ
และเมื่อได้รับงบสนับสนุน...
12 years ago
ทำไมตั้งแต่อ่านเรื่องทุกเรื่องมา รู้สึกเหมือนว่าผู้เขียนชอบยึดติดกับความคิดของตัวเองตลอดเวลา ไม่ใคร่ทำตามหรือเชื่อความคิดเห็นของคนอื่น ประมาณว่ารับฟังแต่..ไม่ปฏิบัติตาม
ReplyDelete